องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงรูปแบบโครงสร้างและอำนาจหน้าที่มาตามลำดับ ดังนี้
ในปี พ.ศ. 2476 เกิดสภาจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 สภาจังหวัดตากพระราชบัญญัตินี้มีฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือแนะนำแก่กรมการจังหวัด ยังไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้น โดยแยกกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับสภาจังหวัดได้โดยเฉพาะ แต่สภาจังหวัดยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกรมการจังหวัดเช่นเดิม จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบบริหารราชการในจังหวัดของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ผลของกฎหมายฉบับนี้ทำให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
ต่อมาได้เกิดแนวความคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิด “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ขึ้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ซึ่งได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แยกจากจังหวัดซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าและฝ่ายสภาจังหวัดร่วมกันทำกิจการส่วนจังหวัดตามมติของสภาจังหวัดและตามที่กฎหมายบัญญัติ สำหรับอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 มาตรา 31 ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการบริหารสาธารณะภายในเขตจังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาล สุขาภิบาลและหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหลายประการ
แรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ออกมาใช้แทนนั้น เกิดจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ที่ยกฐานะสภาตำบลเป็นนิติบุคคลและยกฐานะสภาตำบลอีกจำนวน หนึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่งผลทำให้กระทบอย่างรุนแรงต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้เพราะอำนาจหน้าที่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเคยมีมาแต่เดิมในด้านการดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบล (สภาตำบล) และการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เคยมีแต่เดิม กลับตกไปเป็นอำนาจหน้าที่และรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลไป อันถือเป็นจุดที่เกิดของปัญหาและความยุ่งยากระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับองค์การบริหารส่วนตำบล ในความซ้ำซ้อนทั้งแง่พื้นที่ดำเนินกิจการและแง่ของรายได้ ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้เกิดการรวมตัวของสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ผลักดันให้รัฐบาลออก พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เพื่อให้มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับองค์การบริหารส่วนตำบลให้ชัดเจน รวมทั้งเรียกร้องให้กระจายอำนาจในการบริหารงานแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมากขึ้น
หมายเหตุ : ข้อมูลและรูปภาพในเวบไซต์องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ขอสงวนลิขสิทธิ์ ห้ามมิให้ผู้ใดนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต